ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

การพัฒนารูปแบบการรับเข้านักศึกษาใหม่ผ่านค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ by ฐิติกรณ์รัศมิ์ ภัททสิริภูวดล

ชื่อผลงาน : การพัฒนารูปแบบการรับเข้านักศึกษาใหม่ผ่านค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์

                                       ผู้ถ่ายทอด : นายฐิติกรณ์รัศมิ์ ภัททสิริภูวดล   ถ่ายทอด : วันที่ 9 กันยายน 2564
   

1. บทนำ   

            เนื่องจากในห้วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยทั่วประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นในหลายด้าน ทั้งค่านิยมของการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนแปลงไป จำนวนประชากรที่ลดลง มีการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสายอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากนโยบายการเปลี่ยนแปลงของระบบการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในระบบ TCAS ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ประกอบกับในปีการศึกษา 2559 - 2560 คณะรัฐศาสตร์ประสบปัญหาการรับนักศึกษาไม่เป็นตามแผนการรับนักศึกษา ตามที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติและต่ำกว่าเป้าหมายคือร้อยละ 80 % ตามที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อคณะรัฐศาสตร์เนื่องจากมีสถานะเป็นหน่วยงานส่วนงานภายในที่บริหารจัดการโดยใช้งบประมาณเงินรายได้เป็นหลัก โดยแหล่งงบประมาณเงินรายได้หลักที่ใช้ในการบริหารและการพัฒนาคณะมาจากจำนวนนักศึกษาที่ชำระเงินยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาและค่าธรรมเนียมการศึกษา ดังนั้น คณะรัฐศาสตร์จึงได้ริเริ่มแนวคิดโดยต่อยอดจากโครงการบริการวิชาการรัฐธรรมนูญกับสังคมไทยที่ดำเนินการในปีการศึกษา 2561 ใช้ในการวางแผนการดำเนินโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ เพื่อพัฒนาปรับปรุงรูปแบบการรับเข้านักศึกษาใหม่ของคณะ และเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาในการเพิ่มช่องทางการรับนักเรียนที่มีศักยภาพเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ในหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต จึงได้จัดโครงการดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับองค์ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ผ่านโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ซึ่งเป็นหลักสูตร 3 วัน 2 คืน โดยกลุ่มเป้าหมายคือมุ่งเผยแพร่ความรู้สู่เยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และกำลังจะสำเร็จการศึกษา เนื่องจากเยาวชนกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เริ่มมีความสนใจและมองหาคณะ/สาขาวิชาที่ต้องการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีโอกาสได้ทดลองเรียนรู้ในสาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ตลอดจนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและเพิ่มช่องทางในการเข้าศึกษาต่อ จากการดำเนินงาน พบว่า คณะรัฐศาสตร์สามารถใช้ช่องทางนี้รับนักศึกษา โดยนักเรียนผู้ผ่านโครงการดังกล่าวจะได้รับสิทธิ์ในการเข้าศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ ภายใต้โครงการดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากข้อมูลย้อนหลัง ปี พ.ศ. 2562-2564 มีจำนวนนักเรียนเลือกสมัครเข้าศึกษาต่อโดยใช้ช่องทางนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 105.95 ในปีการศึกษา 2564      

2. วัตถุประสงค์ 

     2.1 เพื่อแก้ไขปัญหาการรับเข้านักศึกษาใหม่ที่มีแนวโน้มลดลง

     2.2 เพื่อพัฒนารูปแบบการรับเข้านักศึกษาใหม่และขยายโอกาสทางการศึกษาในการเพิ่มช่องทางการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีผ่านโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์   

3. การดำเนินการ       

     คณะรัฐศาสตร์ ได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบการรับเข้านักศึกษาใหม่และขยายโอกาสทางการศึกษาในการเพิ่มช่องทางการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีผ่านโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ และแก้ไขปัญหาการรับเข้านักศึกษาใหม่ที่มีแนวโน้มลดลง โครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 - 2564 โดยคณะรัฐศาสตร์มีการกำหนดเป้าหมายการรับนักศึกษาทุกปีการศึกษาให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 แม้ว่าสภามหาวิทยาลัยจะกำหนดให้ทุกคณะวิชารับนักศึกษาได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของแผนรับก็ตาม คณะจึงได้พัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทในขณะนั้น ดังนี้

ตารางที่ 1 รูปแบบการดำเนินงานโครงการระหว่างปีการศึกษา 2562 – 2564

รูปที่ 1 แสดงการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์

ตารางที่ 2 ผลการยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผ่านโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์

รูปกราฟที่ 1 ผลการยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาโควตาค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์

     จากการดำเนินงานโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ ระหว่างปีการศึกษา 2563 – 2564 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 902,523 บาท เมื่อนำมาเทียบกับรายได้จากการชำระค่ายืนยันสิทธิ์ จำนวน 14,569,000 บาท พบว่าใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น ร้อยละ 6.19 โดยในปีการศึกษา 2563 มีการจัดโครงการดังกล่าว 3 รุ่น ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 458,941 บาท เมื่อนำมาเทียบกับรายได้จากการชำระค่ายืนยันสิทธิ์ จำนวน 6,936,000 บาท พบว่าใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น ร้อยละ 6.62 และในปีการศึกษา 2564 มีการจัดโครงการดังกล่าว 3 รุ่น ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 443,582 บาท เมื่อนำมาเทียบกับรายได้จากการชำระค่ายืนยันสิทธิ์ จำนวน 7,633,000 บาท พบว่าใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น ร้อยละ 5.81

รูปกราฟที่ 2 งบประมาณรายจ่ายการดำเนินโครงการเทียบกับรายได้

ตารางที่ 3 ผลการยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปรียบเทียบระหว่างปีการศึกษา 2559-2564

รูปกราฟที่ 3 ผลการยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาในคณะรัฐศาสตร์เปรียบเทียบระหว่างปีการศึกษา 2559-2564

     จากการดำเนินงานโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ คณบดีได้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลโครงการ โดยใช้เครื่องมือจากแบบสอบถามการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์และรายงานตัวขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาแล้วในปีการศึกษา 2563 พบว่า ผลการประเมินปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกเข้าศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ที่มากที่สุดเป็นอันดับแรก คือ อยากทำงานราชการส่วนกลาง และ/หรือ ส่วนภูมิภาค มีค่าเฉลี่ยการประเมินอยู่ที่ 3.62 รองลงมาอันดับสองคือ ความประทับใจจากประสบการณ์เข้าค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีค่าเฉลี่ยการประเมินอยู่ที่ 3.55 และสอบถามกลุ่มนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์และรายงานตัวขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาแล้วในปีการศึกษา 2564 พบว่า เลือกยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มากที่สุดคือ จากประสบการณ์และความประทับใจจากการเข้าค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 52.60 รองลงมาคือ เป็นคณะที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 23.70 คำแนะนำของผู้ปกครองเป็นผู้แนะนำให้เลือกเรียน คิดเป็นร้อยละ 9.60 คำแนะนำของรุ่นพี่เป็นผู้แนะนำให้เลือกเรียน คิดเป็นร้อยละ 4.80 อื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 3.60 คำแนะนำของครูเป็นผู้แนะนำให้เลือกเรียน คิดเป็นร้อยละ 3.50 คำแนะนำของเพื่อนเป็นผู้แนะนำให้เลือกเรียน คิดเป็นร้อยละ 2.20 ตามลำดับ รวมถึงการสำรวจความพึงพอใจและความต้องการต่อการกำหนดนโยบายการรับเข้าศึกษาของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพบว่า นโยบายการรับเข้าศึกษาผ่านโควตาค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ มีค่าเฉลี่ย 4.74 โดยเป็นข้อมูลจากเครือข่ายครูแนะแนว POL-UBU

     นอกจากนี้ คณะรัฐศาสตร์ ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนารูปแบบการรับเข้านักศึกษาใหม่ผ่านโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์แก้ไขปัญหาการรับเข้านักศึกษาใหม่ที่มีแนวโน้มลดลงให้กับหน่วยงานอื่นภายในมหาวิทยาลัยผ่านที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายนอกคือ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จนนำไปสู่การเกิดโครงการค่ายเยาวชนนักบริหารการปกครองและดำเนินการโครงการค่ายเพื่อรับเข้านักศึกษามาแล้วจำนวน 2 รุ่น  

4. เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนา

     จากการดำเนินงานโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์ คณะมีการดำเนินการโดยใช้เครื่องมือในการพัฒนางานตามรูปภาพ ดังนี้

รูปที่ 2 แสดงเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนางานโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์

5. สรุป

จากสถานการณ์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นในหลายด้าน ทั้งค่านิยมของการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนแปลงไป จำนวนประชากรที่ลดลง มีการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสายอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากนโยบายการเปลี่ยนแปลงของระบบการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในระบบ TCASคณะรัฐศาสตร์พัฒนารูปแบบการรับเข้านักศึกษาใหม่ผ่านโครงการค่ายเยาวชนนักรัฐศาสตร์และสามารถใช้ช่องทางนี้รับนักศึกษา โดยนักเรียนผู้ผ่านโครงการดังกล่าวจะได้รับสิทธิ์ในการเข้าศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลย้อนหลัง ปี พ.ศ. 2562-2564 มีจำนวนนักเรียนเลือกสมัครเข้าศึกษาต่อโดยใช้ช่องทางนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 105.95 ในปีการศึกษา 2564

รูปกราฟที่ 3 จำนวนการยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาในคณะรัฐศาสตร์ เปรียบเทียบระหว่างปีการศึกษา 2559-2564

6. ปัจจัยความสำเร็จ

     จากการมุ่งมั่นพัฒนางานเพื่อการปรับตัวและการแก้ไขปัญหาขององค์กรให้เท่าทันทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเครือข่าย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน รวมไปถึงการให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของคณาจารย์ บุคลากรภายในคณะ ตลอดจนนักศึกษาและศิษย์เก่าในการช่วยขับเคลื่อนให้โครงการบรรลุผลตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และแนวโน้มจำนวนนักศึกษาที่ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาภายในคณะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่หน่วยงานที่สนใจเพื่อนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการพัฒนาหน่วยงาน

 ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ